Toyota-Daihatsu สร้างเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากแก๊สชีวมวลเครื่องแรกของไทย

โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (TDEM) ประกาศความพร้อมเพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แนวคิด การใช้แหล่งพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศ แนะนำเครื่องจักรผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซ ชีวมวลที่ได้จากฟาร์มไก่เครื่องแรกของประเทศไทย เริ่มดำเนินการผลิตพลังงานได้จริงภายในเดือนตุลาคม 2566

เครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลดังกล่าวทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ผ่านการดำเนินโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โตโยต้า ตระหนักดีว่าสิ่งที่สำคัญคือการลดการปล่อย CO2 ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงาน เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้การวางแผนร่วมกันกับ Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายในภาคการขนส่งยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ด้วยการใช้เทคโนโลยี CASE (Connected, Autonomous, Shared and Electrified) อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเดือน ธันวาคม 2565 โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (TMC) จับมือกับ CJPT และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ประกาศความร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวล ที่ได้จากมูลสัตว์ในฟาร์มไก่ของ ซีพี โดยพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะนำไปใช้กับรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เพื่อขนส่งระยะไกล ช่วยให้การขนส่งด้วยรถบรรทุกมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ในระยะแรกของการทดลองพบว่าเครื่องจักรขนาดเล็กที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถแปรรูปก๊าซชีวภาพเป็นไฮโดรเจนได้ที่ปริมาณ 2 กิโลกรัม/วัน (1 ลูกบาศก์เมตรมาตรฐาน/ชั่วโมง)

เครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวมวลที่ติดตั้งอยู่ภายใน บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟค เจอริ่ง ผลิตโดย บริษัท มิตซูบิชิ คาโคกิ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อสนับสนุนให้มีการพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานในทุกประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ นอกจากนี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และโตโยต้า ทูโช จะประสานความร่วมมือกันเพื่อมุ่งผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศของไฮโดรเจน ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้าง และการริเริ่มระบบโดยรวมสำหรับการบีบอัด จัดเก็บ และขนส่งก๊าซชีวภาพและไฮโดรเจน ตลอดจนการจัดตั้งระบบปฏิบัติการ

Toyota