ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และ นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน เวียตเจ็ทไทยแลนด์ ร่วมพิธีเปิดเที่ยวบินนำร่องของการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เส้นทาง กรุงเทพฯ – ดานัง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ณ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ
นายดิษทัต กล่าวว่า ในวันนี้ OR ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของ ไทย เวียตเจ็ท เส้นทาง กรุงเทพฯ – ดานัง เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมลงมือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดย SAF เป็นน้ำมันที่ผลิตจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า UCO (Used Cooking Oil) ที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A-1) และสามารถผสมเข้ากับน้ำมัน Jet A-1 เพื่อให้ใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ใด ๆ มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตน้อยกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานโดยทั่วไป โดยเชื้อเพลิง SAF สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ผู้ผลิตโดย บริษัท Neste ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนชั้นนำของโลก และ บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมกับบริษัท PETCO TRADING LABUAN COMPANY LIMITED (PTLCL) ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้จัดหาและนำเข้า โดยมี บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ ยังสอดประสานกับวิสัยทัศน์ OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติ “G” หรือ “GREEN” ซึ่งมุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด และมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) อันเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย OR 2030 อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่สะอาด และยั่งยืน
นายวรเนติ เปิดเผยว่า “เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนในวันนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญของเวียตเจ็ทไทยแลนด์และเวียตเจ็ทกรุ๊ป ที่มุ่งมั่นทำตามภารกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกิจกรรมนี้ไม่เพียงตอกย้ำความเป็นเลิศในการปฏิบัติการบิน แต่ยังเป็นไปตามนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพนี้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระดับโลกที่ตั้งขึ้นโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบิน”