บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าคืนความสมบูรณ์สู่ธรรมชาติในโครงการ “Root for Sustainability : รากกล้าแห่งความยั่งยืน” ปีที่ 3 ด้วยการปลูกต้นโกงกางกว่า 12,000 ต้น บนพื้นที่ป่าชายเลน 16.57 ไร่ ณ ตำบลเกวียนหัก อําเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มุ่งรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็นสังคมคาร์บอนเป็นกลาง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสังคมของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ด้วยแนวคิด “สรรค์สร้าง เคียงข้าง สังคมไทย” ภายใต้หลักสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
มร. โนโบรุ สึจิ ประธานคณะกรรมการบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินการเชิงรุก เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งในโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608
โครงการปลูกป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ด้วยปณิธานที่จะรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการปลูกป่า และดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่องไปถึง 10 ปี พร้อมกันนี้ เรายังสนับสนุนโครงการธนาคารสัตว์น้ำในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย”
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เริ่มดำเนินโครงการ “Root for Sustainability : รากกล้าแห่งความยั่งยืน” เพื่อฟื้นฟูผืนป่าคืนธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมในปี 2564 เริ่มต้นในจังหวัดชลบุรี, สระแก้ว และนครราชสีมา ปัจจุบัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการปลูกต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์บนพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ มีเป้าหมายสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ยั่งยืนยิ่งขึ้นเพื่อชุมชนท้องถิ่น
ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กล่าวว่า “การปลูกป่าชายเลน เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากป่าชายเลน 1 ไร่ มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 9.4 ตัน ฉะนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี จึงช่วยลดการเกิดภาวะเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
นอกจากนี้ ป่าชายเลนยังช่วยปกป้องการพังทลายของชายฝั่งจากคลื่น และลม พร้อมกับช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งอีกด้วย ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อสนับสนุน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน บริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมไม่เพียงได้มีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และได้รับคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่าเท่านั้นแต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนบริเวณชายฝั่งให้ได้มีแหล่งจับหาสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”
นายจักรพงษ์ พันธุ์โชติ นายอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งพื้นที่ป่า ภูเขา ทะเล พร้อมกับมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลาย ว่าเป็นแหล่งสินค้าทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผู้คนในชุมชนอำเภอขลุงส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และประมง ระบบนิเวศชายฝั่งจึงมีความสำคัญกับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก กิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่ทุกภาคส่วนมาช่วยกันในครั้งนี้ จึงถือเป็นการต่อยอด สร้างระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และแหล่งอาหารอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนชายฝั่งต่อไปในอนาคต”
ในงานนี้ ทาง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังได้นำรถรุ่นต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดน้ำมัน มาใช้งานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย ประกอบด้วย เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส เอชอีวี รถยนต์ระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด ที่ผสานการทำงานของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า มอบการขับขี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับการโดยสารมากถึง 7 ที่นั่ง
รวมถึง ออล-นิว ไทรทัน ที่นำมาใช้ขนย้ายต้นกล้าไปปลูกยังพื้นที่ป่าชายเลน ด้วยขุมพลังจากเครื่องยนต์ใหม่ให้พละกำลังมากกว่าเดิม เพิ่มการประหยัดน้ำมัน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ให้ความแข็งแรงสมบุกสมบันพร้อมลุยในทุกสภาพถนน และเอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ด้วยกำลังไฟมากสุด 1,500 วัตต์ โดยถูกนำมาใช้จ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในงาน
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 63 ปีด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการจัดการการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือโครงการ “Root for Sustainability : รากกล้าแห่งความยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูป่าและขยายพื้นที่ธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน